มีสุขชวนคุย : Your Companion




Brandeis Farmers Club”
สวนผักบนดาดฟ้าที่ ม.แบรนดีส







หลังจากที่เราได้ไปเยี่ยมเยียนแปลงผักออร์แกนิกในมหาวิทยาลัยบ้านเรากันไปแล้ว คราวนี้กินดีmeสุข ก็จะขอพาเพื่อนๆโกอินเตอร์ไปดูแปลงผักที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกากันบ้างค่ะ


อย่างที่ทราบกันค่ะว่าส่วนใหญ่แล้วแปลงผักในรั้วสถานศึกษานั้นคือพื้นที่แห่งการเรียนรู้โดยแท้จริง ซึ่ง “คุณปุ้ย วรางคนางค์ นิ้มหัตถา” แห่งเครือข่ายสวนผักคนเมือง เล่าให้เราฟังว่า ในต่างประเทศทั้งโซนยุโรปและอเมริกาต่างก็ตื่นตัวในเรื่องปัญหาความมั่นคงทางอาหารกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก การทำเกษตรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงได้มีฟาร์มผักสวนครัวเป็นของตัวเอง



เช่นที่มหาวิทยาลัยแบรนดีส Brandeis รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อนักศึกษาเอกสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาวิชาเกี่ยวกับความยั่งยืนแความเป็นธรรมด้านอาหาร แล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ผู้คนทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบข้างได้เรียนรู้เรื่องการผลิตอาหารแบบยั่งยืน สามารถเข้าถึงอาหารดี มีคุณภาพได้โดยง่าย พวกเขาจึงได้ช่วยกันทำชมรมเกษตร Brandeis Farmers Club” ขึ้น โดยใช้พื้นที่ว่างบริเวณดาดฟ้าของมหาวิทยาลัยมาปลูกผัก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็ให้การสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างดีค่ะ เพราะไม่เพียงแต่ให้พื้นที่เท่านั้น แต่ยังมอบทุนสนับสนุนอีก 30,000 เหรียญ เพื่อมาพัฒนาแปลงผักด้วย นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม “Green City Growers” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำเกษตรในเมืองที่ Boston มาช่วยให้คำแนะนำด้านการออกแบบ และทำสวนผักบนดาดฟ้าค่ะ

 


โดยสวนผักแห่งนี้ใช้ลังที่ใส่น้ำมาทำเป็นแปลงผักบนพื้นที่ 1,500 ตารางฟุต และมีนักศึกษาในชมรม รวมถึงอาสาสมัครมาช่วยกันลงมือลงแรงทำ ส่วนผลผลิตที่ได้ก็จะนำไปขายที่ตลาดนัดเกษตรกร บางส่วนก็จะส่งให้กับสมาชิกที่จ่ายเงินล่วงหน้า และบางส่วนก็บริจาคให้กับธนาคารอาหาร และกลุ่มผู้ยากไร้ในชุมชนค่ะ




  

บ้านเราเองก็มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มสนใจเรื่องนี้นะคะ แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นความคิดริเริ่มของอาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัย รวมถึงมุ่งเน้นงานวิจัยเป็นหลัก หากจะพัฒนาให้เกิดผลยั่งยืนและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ก็คงต้องอาศัยพลังของนักศึกษา รวมถึงการมีพื้นที่ปลูกเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นห้องเรียนมีชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดพื้นที่อาหารปลอดภัยสำหรับผู้คน ชุมชนในมหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนรอบข้าง


“สิ่งสำคัญคือต้องคิดให้ไกลเกินกว่าตัวเอง รู้จักเผื่อแผ่คนด้อยโอกาส คนยากไร้ในสังคม  แล้วก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่คณะหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะเรื่องอาหารที่ดีนั้นมีความหมายกับชีวิตของทุกคนค่ะ” คุณปุ้ยกล่าวทิ้งท้าย :)

 
        ต้องขอยอมรับในพลังและแรงใจของเหล่านักศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและตระหนักรู้ให้กับสังคมในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารจริงๆนะคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวดีดีที่เรานำเสนอจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับอาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวันให้มากขึ้น


เพราะเมื่อเรา “กินดี” ชีวิตเราก็ “มีสุข” ค่ะ ^^